ชื่อผลงานทางวิชาการ รายงานผลของการใช้โปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันสารเสพติดที่มีต่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนวัดโกสินารายน์
ผู้รายงาน นายสนั่น คล่องแคล่ว
ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดโกสินารายน์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 2
บทคัดย่อ
การรายงานครั้งนี้เป็นรายงานผลการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi experimental Research) โดยใช้รูปแบบการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมที่มีการวัดตัวแปรตาม ก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-Posttest Control Group Design ) มีวัตถุประสงค์การรายงานเพื่อ 1) รายงานกระบวนการจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อป้องกันสารเสพติดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 โรงเรียนวัดโกสินารายน์ จังหวัดราชบุรี และ 2) เพื่อรายงานผลของการจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อป้องกันสารเสพติดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดโกสินารายน์ จังหวัดราชบุรี กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดโกสินารายน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ใช้การสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) จำนวน 24 คนจากนักเรียนที่มีคะแนนรวมจากแบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 12 คน ตัวแปรที่ศึกษา ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย ตัวแปรอิสระ ได้แก่ โปรแกรมทักษะชีวิต เพื่อป้องกันสารเสพติด และตัวแปรตาม ได้แก่ คะแนนการวัดทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การตระหนักรู้ในตนทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหา และทักษะการปฏิเสธต่อสารเสพติด
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1)โปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการติดสารเสพติด โดยมีแนวความคิดของทักษะชีวิตประกอบด้วย 5 องค์ประกอบคือ การคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การตระหนักรู้ในตน ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหา และทักษะการปฏิเสธ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม 10 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที 2) แบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดเป็น แบบวัด ที่ผู้รายงานได้สร้างขึ้นตามแนวความคิดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ การคิดวิเคราะห์วิจารณ์การตระหนักรู้ในตน การตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหาและทักษะการปฏิเสธ และ 3) แบบประเมินการเข้าร่วมโปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการติดสารเสพติด การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (Arithmetic) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)ร้อยละ (Percentage) ทดสอบสมมติฐาน โดนใช้สถิติพารามิเตอร์ คือ The Mann Whitney U Test และ The Wilcox on Matched Pairs Signed – Ranks Test และใช้สถิตินอนพาราเมตริก (Nonparametric Statistics) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for window PC
ผลการวิจัยพบว่า
1. ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนรวมจากแบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนรวมจากแบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญที่สถิติระดับ .05
3. นักเรียน กลุ่มทดลองได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำกิจกรรม คือ มีความรู้ในเรื่องของสารเสพติดเพิ่มมากขึ้น เรียนรู้วิธีการป้องกันไม่ให้ติดสารเสพติด เรียนรู้คุณค่าของตัวเองในเรื่องของข้อดีและข้อเสีย เรียนรู้วิธีการตัดสินใจที่จะทำไม่ให้ผู้ชักชวนโกรธ เรียนรู้หนทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติด เรียนรู้วิธีการปฏิเสธที่ไม่ทำร้ายผู้ชักชวน รู้จักความสามัคคีและการช่วยเหลือกันของการทำงานกลุ่มสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และนักเรียนส่วนใหญ่จะบอกถึงความรู้สึกที่เข้าร่วมโปรแกรมว่ารู้สึก ภูมิใจ ดีใจ และสนุกสนานที่ได้เข้าร่วมโปรแกรม จากความคิดเห็นจากกลุ่มทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักเรียนกลุ่มทดลองเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการติดสารเสพติด
สนใจศึกษาคู่มือการใช้โปรแกรมฯ ติดต่อได้ที่
ครูสนั่น คล่องแคล่ว ครูชำนาญการโรงเรียนวัดโกสินารายน์ อำเภอบ้านโป่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 2
ผู้เยี่ยมชม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น