ผู้เยี่ยมชม

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการของ ครูชรินทร์ สุคนธ์วารี ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดสวนแตง สพท.สุพรรณบุรี เขต 1

ชื่อเรื่อง รายงานผลการใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1
โรงเรียนวัดสวนแตง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1
ผู้รายงาน นายชรินทร์ สุคนธ์วารี

บทคัดย่อ

รายงานผลการใช้แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้ 1)เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะ การแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะ การแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนวัดสวนแตง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 ภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา 2552 3) เพื่อศึกษา ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา มี 4 ประเภท ดังนี้ 1) แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 ชุด 2)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง การแก้โจทย์ปัญหาการหาร ซึ่งเป็นแบบปรนัย จำนวน 1 ฉบับ มี 30 ข้อ 3) แบบประเมินแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สำหรับผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับองค์ประกอบของแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา ใช้ตัวแปรเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ คือ ดีมาก ดี ปานกลาง พอใช้ และ ควรแก้ไข 4) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นแบบมาตราส่วน ประมาณค่า (Likert’s – Scale) 3 ระดับ จำนวน 12 ข้อ ลักษณะของแบบประเมิน เป็นแบบ Likert’s – Scale ให้คะแนน 1 – 3 คะแนน

ผลการศึกษาพบว่า
1. การสร้างและหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.1 ผลการสร้างแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร จำนวน 3 ชุด พบว่า ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน ให้ความคิดเห็นว่า แบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร ชุดที่ 1 ชุดที่ 2 และชุดที่ 3 มีความเหมาะสมดีมาก 4.46
1.2 ผลการหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหาการหาร ทั้ง 3 ชุด มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.730/80.78 สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ 80/88
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดฝึกทักษะ การแก้โจทย์ปัญหาการหารสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมีค่าเฉลี่ยก่อนเรียน 14.67 หลังเรียน 23.67 มีค่าเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการแก้โจทย์ปัญหา การหารสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก 2.79

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการของ ครูสุรีย์ สุคนธ์วารี ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดสวนแตง สพท.สุพรรณบุรี เขต 1

ชื่อเรื่อง รายงานการใช้สื่อวีดิทัศน์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) เรื่องรำวงมาตรฐาน
และความพึงพอใจในการเรียนสำหรับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดสวนแตง

ชื่อผู้ศึกษา นางสุรีย์ สุคนธ์วารี ตำแหน่งครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียนวัดสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1


ปี พ.ศ. 2552

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของสื่อวีดิทัศน์ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อศึกษาพฤติกรรมของนักเรียนขณะใช้สื่อวีดิทัศน์ และ เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อสื่อวีดิทัศน์กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) เรื่องรำวงมาตรฐาน กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนวัดสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1 จำนวน 31 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบเจาะจง ระยะเวลาในการศึกษา ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2552 – 31 สิงหาคม 2552 จำนวน 15 ชั่วโมง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ สื่อวีดิทัศน์ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนจากสื่อวีดิทัศน์ และแบบประเมินความพึงพอใจในการเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และสถิติ t – test แบบ Dependent Samples
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของสื่อวีดิทัศน์กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) เรื่องรำวงมาตรฐาน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 88.99/87.31 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยสื่อวีดิทัศน์กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) เรื่องรำวงมาตรฐาน หลังสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. นักเรียนแสดงพฤติกรรมระหว่างใช้สื่อวีดิทัศน์กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) เรื่องรำวงมาตรฐานทุกบทเรียน มีพฤติกรรมเฉลี่ยร้อยละ 80 ขึ้นไป
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อสื่อวีดิทัศน์นาฏศิลป์ เรื่องรำวงมาตรฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (นาฏศิลป์) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เท่ากับ 4.53

ก้าวต่อไป...สู้! สู้!

ตอนนี้ ความรู้สึกมันคล้ายกับตอนเรียนจบใหม่ๆ แล้วรอหนังสือเรียกตัวไปบรรจุ ช่วงเวลาใกล้เคียงกันเลย ปิดเทอมใหญ่แบบนี้เลย เวลาผ่านไปสิบปี เข้าปีที่ 11 แล้วสินะ แก่จังเรา... จังหวะชีวิตมันถึงเวลาที่จะต้องก้าวออกมาจากจุดเดิมได้แล้วล่ะ อิ่มตัวแล้ว อิ่มจนกลม... ชีวิตมันต้องก้าวต่อไป จะมายืนอยู่ที่เดิมได้ไง กว่าจะเกษียณอีกตั้งหลายปี มีเวลาทำอะไรได้อีกเยอะ เพราะฉะนั้น ก้าวต่อไป สู้! สู้!

เผยแพร่ผลงานทางวิชาการของคุณครูสนั่น คล่องแคล่ว

ชื่อผลงานทางวิชาการ รายงานผลของการใช้โปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันสารเสพติดที่มีต่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
โรงเรียนวัดโกสินารายน์
ผู้รายงาน
นายสนั่น คล่องแคล่ว
ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดโกสินารายน์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 2

บทคัดย่อ
การรายงานครั้งนี้เป็นรายงานผลการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi experimental Research) โดยใช้รูปแบบการทดลองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมที่มีการวัดตัวแปรตาม ก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-Posttest Control Group Design ) มีวัตถุประสงค์การรายงานเพื่อ 1) รายงานกระบวนการจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อป้องกันสารเสพติดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 โรงเรียนวัดโกสินารายน์ จังหวัดราชบุรี และ 2) เพื่อรายงานผลของการจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อป้องกันสารเสพติดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดโกสินารายน์ จังหวัดราชบุรี กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดโกสินารายน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ใช้การสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) จำนวน 24 คนจากนักเรียนที่มีคะแนนรวมจากแบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 12 คน ตัวแปรที่ศึกษา ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย ตัวแปรอิสระ ได้แก่ โปรแกรมทักษะชีวิต เพื่อป้องกันสารเสพติด และตัวแปรตาม ได้แก่ คะแนนการวัดทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การตระหนักรู้ในตนทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหา และทักษะการปฏิเสธต่อสารเสพติด
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ 1)โปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการติดสารเสพติด โดยมีแนวความคิดของทักษะชีวิตประกอบด้วย 5 องค์ประกอบคือ การคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การตระหนักรู้ในตน ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหา และทักษะการปฏิเสธ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรม 10 ครั้ง ครั้งละ 50 นาที 2) แบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดเป็น แบบวัด ที่ผู้รายงานได้สร้างขึ้นตามแนวความคิดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ คือ การคิดวิเคราะห์วิจารณ์การตระหนักรู้ในตน การตัดสินใจ ทักษะการแก้ไขปัญหาและทักษะการปฏิเสธ และ 3) แบบประเมินการเข้าร่วมโปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการติดสารเสพติด การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยครั้งนี้ ใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (Arithmetic) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)ร้อยละ (Percentage) ทดสอบสมมติฐาน โดนใช้สถิติพารามิเตอร์ คือ The Mann Whitney U Test และ The Wilcox on Matched Pairs Signed – Ranks Test และใช้สถิตินอนพาราเมตริก (Nonparametric Statistics) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for window PC

ผลการวิจัยพบว่า
1. ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนรวมจากแบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดสูงกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. ภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนรวมจากแบบวัดทักษะชีวิตที่จำเป็นในการป้องกันสารเสพติดสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญที่สถิติระดับ .05
3. นักเรียน กลุ่มทดลองได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการทำกิจกรรม คือ มีความรู้ในเรื่องของสารเสพติดเพิ่มมากขึ้น เรียนรู้วิธีการป้องกันไม่ให้ติดสารเสพติด เรียนรู้คุณค่าของตัวเองในเรื่องของข้อดีและข้อเสีย เรียนรู้วิธีการตัดสินใจที่จะทำไม่ให้ผู้ชักชวนโกรธ เรียนรู้หนทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสารเสพติด เรียนรู้วิธีการปฏิเสธที่ไม่ทำร้ายผู้ชักชวน รู้จักความสามัคคีและการช่วยเหลือกันของการทำงานกลุ่มสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และนักเรียนส่วนใหญ่จะบอกถึงความรู้สึกที่เข้าร่วมโปรแกรมว่ารู้สึก ภูมิใจ ดีใจ และสนุกสนานที่ได้เข้าร่วมโปรแกรม จากความคิดเห็นจากกลุ่มทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักเรียนกลุ่มทดลองเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโปรแกรมทักษะชีวิตเพื่อป้องกันการติดสารเสพติด

สนใจศึกษาคู่มือการใช้โปรแกรมฯ ติดต่อได้ที่
ครูสนั่น คล่องแคล่ว ครูชำนาญการโรงเรียนวัดโกสินารายน์ อำเภอบ้านโป่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาราชบุรี เขต 2

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลง!!!

นานมากเลยนะที่ไม่ได้เข้ามาอัพบล็อกนี้ ตั้งแต่เรียนจบนี่ จะมีใครอัพบล็อกกันบ้างมั๊ยเนี่ย ว่าแล้วเดี่ยวไปแอบดูบล็อกพี่ๆ เค้าหน่อย สงสัยจะนิ่งสนิท
วันนี้เรารู้สึกสบายขึ้น หลังจากที่โดนไข้หวัดเล่นงานซะแย่เลย พ่อกับแม่ก็เลยติดไปด้วย ถ้าโจกับจี้อยู่ก็ไม่รู้จะติดไปด้วยหรือเปล่า ไม่น่าเชื่อ ตอนเช้าก็ไม่มีอาการพอบ่ายๆ แค่นั้น ปวดทั้งหัว ปวดขาด้วย แทบแย่ ปีนี้เลยได้เป็นไข้รับหน้าหนาว...

อบรม TKT




......เมื่อวันที่ 21 เมษายน เป็นวันแรกของการอบรม TKT : Teaching Knowledge Test Module 1 โปรแกรมเค้าตั้งไว้ 10 วันแน่ะ สมัครไปอบรมโดยไม่รู้ข้อมูลว่า TKT เนี่ยมันเป็นการอบรมเพื่อสอบวัดความรู้ด้านการสอนภาษาอังกฤษสำหรับครู เข้าอบรม 10 วัน แล้วก็เตรียมตัวสอบวันที่ 17 พฤษภาคม 51 นี้เลยนะ สำหรับข้อสอบ จะใช้ข้อสอบของมหาวิทยาลัย Cambridge เลยนะเนี่ย ได้ยินเค้าว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบนี้ตั้งคนละ 4,000 บาทแน่ะ ดีนะ ที่เราไม่ต้องจ่ายเอง แหะ ๆ แพงจัง
......เนื้อหาของการอบรมมีตั้ง 17 Unit มีทั้งส่วนที่เป็นเนื้อหาความรู้ในภาษาอังกฤษ เหมือนๆ ที่เคยเรียนมาสมัยอยู่มัธยมมาแล้ว ก็พอจำได้อยู่บ้าง โชคดีที่เรามีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษมากพอสมควรสมัยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนนารีวุฒิ ไม่มีวันไหนที่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเลย บางวันเรียนสองคาบเลยด้วยซ้ำทั้งๆ ที่เราไม่ใช่นักเรียนในห้องศิลป์ภาษา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับเรา แต่ก็มีบางเรื่องที่มาเรียนตอนสมัยปริญญาตรี อย่างพวก Phonetics เนี่ย สมัยเป็นนักศึกษายังจำได้เลยว่าเป็นเรื่องเดียวที่ไม่ได้เรียนมาจากนารีวุฒิ แต่เนื้อหาในการอบรมนี้ก็มีบางเรื่องที่ยังไม่เคยเรียนเลย ชนิดที่ว่า Pretest อย่างเดาสุดๆ แล้วก็ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับการสอนภาษาอีก
......ไม่รู้ว่า กว่าจะครบ 17 Unit จะจำอะไรได้บ้างหนอเรา แต่ก็อาศัยว่าเราชอบภาษาอังกฤษอยู่ก่อนแล้ว ก็ต้องพยายามทำคะแนนให้ได้ดีที่สุดเท่าที่เอกประถมศึกษาอย่างเราจะทำได้ ด้วยเกียรติของครูประถมอย่างเรา จะต้องสอบให้ได้ไม่ต่ำกว่า band 2 ตั้งใจว่าไว้ว่า จะตะกายให้ถึง Band 3 ดูซิจะถึงมั๊ย เอาล่ะ สู้! สู้! สู้!

คิดถึงจังเลย!


......ตอนนี้ก็ปิดเทอมแล้วนะคะ หลายๆ คนคงมีเวลาพักผ่อน หลังจากที่ทำงานหนักมาตลอด โดยเฉพาะพี่ๆ ที่ส่งชำนาญการพิเศษ ขอเอาใจช่วยทุกๆ คนนะคะ ขอให้ผ่านกันทุกๆ คนเลย โอม เพี้ยง!
......พอเรียนจบแล้วก็เหงาๆ เหมือนกันนะ คิดถึงบรรยากาศในห้อง ป.บัณฑิตอันสนุกสนานของเรา คิดถึงทุกคนเลย เวลาไปร้านขนมก็คิดถึงเวลาที่มาเมียงๆ มองๆ หาขนมสำหรับเบรคเช้า - บ่าย อันที่จริงปกติเราจะซื้อขนมเกินจำนวนคนอยู่แล้ว แล้วก็เผื่อสำหรับอาจารย์ด้วย แต่ก็แปลกนะ ทำไมขนมมันมักไม่พออยู่เรื่อย อิอิอิ แล้วก็คิดถึงร้านส้มตำ คิดถึงตลาดนัดวันเสาร์-อาทิตย์ คิดถึงจังเอาไว้ว่างๆ มานัดเจอกันอีกดีกว่า ดีมั๊ยๆ

เยือนดินแดนไทลื้อสิบสองปันนา



...การเดินทางไปเยือนดินแดนสิบสองปันนา หรือ Xi Shuang Banna ประเทศจีนในครั้งนี้ แม้ว่าจะไม่สะดวกสบายเหมือนกับไปประเทศอื่นๆ เพราะเวลาส่วนใหญ่ของเราหมดไปกับการนั่งอยู่บนรถที่วิ่งอยู่บนเส้นทางสาย A3 หรือที่เรียกกันว่าทางด่วนกรุงเทพฯ - คุนหมิง ซึ่งทอดผ่านทิวเขาสลับซับซ้อนในแขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงน้ำทาในประเทศลาวจรดเมืองบ่อหานซึ่งเป็นชายแดนทางใต้ของจีนที่ติดกับลาว จำได้ว่าเส้นทางสายนี้ โค้งแล้ว ก็โค้งอีก.... แทบไม่มีทางตรงๆ เลย ...อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะนั่งกันจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีก ก็ยังไม่ถึงสักที แถมไม่มีห้องน้ำระหว่างทาง บางคนเลยมีโอกาสไปเก็บดอกไม้ข้างทาง..ได้ยินว่าบรรยากาศดีไม่น้อยค่ะ..อิอิ ฟังดูค่อนข้างลำบากนะคะแต่กลับทำให้พวกเราชาว ป.บัณฑิต สนิทกันมากยิ่งขึ้น พี่ๆ แต่ละคนได้พบเจอเรื่องราวแปลกๆ ขำๆ แล้วก็เก็บมาเล่าให้เราได้หัวเราะท้องคัดท้องแข็งกันทุกวัน สรุปว่าสนุกกับการเดินทางและดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางครั้งนี้ รับรองว่าลืมไม่ลงเลยทีเดียวค่ะ...
...นกยูงถ่ายรูปกับนกยูงค่ะ สัญลักษณ์ของชาวไทลื้อและสิบสองปันนาคือนกยูงนั่นเอง สามารถเห็นได้ตามจั่วบ้าน หลังคา หรือแม้แต่อาคารแบบสมัยใหม่ ก็จะมีรูปนกยูงประดับไว้เช่นกัน ส่วนที่หมู่บ้านกาหลันป้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านไทลื้อที่ทางการจีนส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับAAAA ก็มีนกยูงตัวเป็นๆ มาให้ถ่ายรูปด้วยค่ะ ในราคา 10 หยวน นกยูงจากเมืองไทยก็ต้องเลยต้องไปเก็บภาพด้วยซักรูปสองรูป ก็ชื่อ "มยุรา" นี่คะ ไม่ถ่ายด้วยได้ไงล่ะ

จัดนิทรรศการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

.....การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของครูและนักเรียน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงระหว่างวันที่ 17 - 20 มกราคม 2551 ผ่านไปอย่างราบรื่นและบรรลุตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างดี ในการนี้ได้มีโอกาสต้อนรับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงถึง 2 ท่าน คือ ผศ.พิทักษ์ อาจคุ้มวงษ์ อธิการบดีคนปัจจุบัน และ ผศ.ดร.โสภณ พวงสุวรรณ อดีตอธิการบดี และคณาจารย์อีกหลายท่านด้วยกัน
.....ในส่วนของนิทรรศการผลงานของครูและนักเรียน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนวัดหนองเสือ(ประชาอุทิศ) ประกอบด้วย ผลงานโครงการของคุณครูอนุบาลของโรงเรียนซึ่งล้วนมีผลงานเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอด ผลงานของคุณครูจุฑาทิพย์ ชื่นบุญมา ซึ่งได้รับรางวัลครูเกียรติยศ(Teacher Award) และรางวัลครูดีในดวงใจ สาขาปฐมวัย ผลงานภาพวาดศิลปะของนักเรียน โครงงานวิชาวิทยาศาสตร์ระดับประถมและมัธยม นอกจากนี้ยังมีขนมไทยหลายชนิดจากชมรมขนมไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 น้ำยาล้างจานอเนกประสงค์จากชมรมวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 น้ำพริกเผาสูตรโบราณจากชมรมภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษา งานประดิษฐ์จากขวดน้ำซึ่งเป็นการช่วยกำจัดขยะโดยเพิ่มมูลค่า และผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยไร่ไม่จนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปของชุมชนบ้านหนองเสือที่ทางโรงเรียนได้เชิญมาร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้.....


วิชาการจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ

บทที่ 6 การบริหารระบบสารสนเทศในองค์กร

ความหมายของนวัตกรรม

คำว่า "นวัตกรรม" หรือ นวกรรม มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "Innovation" โดยคำว่า นวัตกรรม มีรูปศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลี คือ นว+อตต+กรรม กล่าวคือ นว แปลว่า ใหม่ อัตต แปลว่า ตัวเอง และกรรม แปลว่า การกระทำ เมื่อรวมคำ นว มาสนธิกับ อัตต จึงเป็น นวัตต และ เมื่อรวมคำ นวัตต มาสมาส กับ กรรม จึงเป็นคำว่า นวัตกรรม แปลตามรากศัพท์เดิมว่า การกระทำที่ใหม่ของตนเอง หรือ การกระทำของตนเองที่ใหม่ (เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต, 2528)
ส่วนคำว่า "นวกรรม" ที่มีใช้กันมาแต่เดิม มีรากศัพท์เดิมมาจากคำว่า นว แปลว่า ใหม่ กรรม แปลว่า การกระทำ จึงแปลตามรูปศัพท์เดิมว่าเป็นการปฏิบัติหรือการกระทำใหม่ๆ
ในความหมายโดยทั่วไปแล้วสิ่งใหม่ๆ อาจหมายถึงความคิด วิธีปฏิบัติ วัตถุหรือสิ่งของที่ใหม่ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักมาก่อน คำว่านวัตกรรมนี้อาจมีผู้ใช้คำอื่นๆ อีก เช่น นวัตกรรม ความจริงแล้วก็เป็นคำ ๆ เดียวกันนั่นเอง

Hughes (1971) อธิบายว่า นวัตกรรม เป็นการนำวิธีการใหม่ ๆ มาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้น ๆ แล้ว โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. การคิดค้น (invention)
2. การพัฒนา (Development)
3. นำไปปฏิบัติจริง ซึ่งมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา
Everette M. Rogers (1983) ได้ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรม (Innovation) ว่า นวัตกรรมคือ ความคิด การกระทำ หรือวัตถุใหม่ ๆ ซึ่งถูกรับรู้ว่าเป็นสิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวบุคคลเแต่ละคนหรือหน่วยอื่น ๆ ของการยอมรับในสังคม(Innovation is a new idea, practice or object, that is perceived as new by the individual or other unit of adoption)
การพิจารณาว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นนวัตกรรมนั้น Everette M. Rogers ได้ชี้ให้เห็นว่าขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มบุคคลว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ดังนั้นนวัตกรรมของบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอาจไม่ใช่นวัตกรรมของบุคคลกลุ่มอื่น ๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของบุคคลนั้นว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาหรือไม่ อีกประการหนึ่งความใหม่ (newness) อาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาด้วย สิ่งใหม่ๆ ตามความหมายของนวัตกรรมไม่จำเป็นจะต้องใหม่จริงๆ แต่อาจจะหมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความคิดหรือการปฏิบัติที่เคยทำกันมาแล้วแต่ได้หยุดกันไประยะเวลาหนึ่ง ต่อมาได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาทำใหม่เนื่องจากเห็นว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาในสภาพการณ์ใหม่นั้นได้ ก็นับว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งใหม่ได้ ดังนั้น นวัตกรรมอาจหมายถึงสิ่งใหม่ๆ ดังต่อไปนี้
1 สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อนเลย
2 สิ่งใหม่ที่เคยทำมาแล้วในอดีตแต่ได้มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
3 สิ่งใหม่ที่มีการพัฒนามาจากของเก่าที่มีอยู่เดิม

ความสำคัญของนวัตกรรม
นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการศึกษาหลายประการ ทั้งนี้เนื่องจากในโลกยุคโลกาภิวัฒน์มีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวหน้าทั้งด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ การศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเปล่ยนแปลงจากระบบการศึกษาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาบางอย่างที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมการศึกษาที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษาในบางเรื่อง เช่น ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับจำนวนผู้เรียนที่มากขึ้น การพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย การผลิตและพัฒนาสื่อใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองการเรียนรู้ของมนุษย์ให้เพิ่มมากขึ้นด้วยระยะเวลาที่สั้นลง การใช้นวัตกรรมมาประยุกต์ในระบบการบริหารจัดการด้านการศึกษาก็มีส่วนช่วยให้การใช้ทรัพยากรการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ***อ่านต่อ คลิก >>> http://edtech.edu.ku.ac.th/edtech/wbi/index.php?module=study&chapter=4&sub1=1&sub2=1

ความหมายของสารสนเทศ
"สารสนเทศ"หรือ"สารนิเทศ" เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า "Information" ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้ใช้ได้ทั้งสองคำ ในวงการคอมพิวเตอร์ การสื่อสาร และธุรกิจ นิยมใช้คำว่า "สารสนเทศ" ส่วนในวงการบรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ ใช้ว่า "สารนิเทศ" ความหมายกว้างๆ หมายถึง ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ที่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ เพื่อนำมาเผยแพร่ และใช้ในงานต่างๆ ทุกสาขา ***อ่านต่อ คลิก >>>
http://www.princess-it.org/kp9/articles/ch1-1.th.html

"สารสนเทศ" หรือ "สารนิเทศ" เป็นคำบัญญัติมาจากภาษาอังกฤษว่า information หมายถึงข้อเท็จจริง ข้อมูล ข่าว ความรู้ทั่วไป ความรู้ทางวิชาการ ความรู้สึก ความคิดของนักคิด นักปราชญ์ นักวิชาการ ที่แสดงออกโดยการบันทึก ไว้ทั้งในรูปวัสดุตีพิมพ์และวัสดุที่ไม่ได้ตีพิมพ์ เพื่อประโยชน์ต่อบุคคลและสังคม *** อ่านต่อ คลิก >>>
http://human.uru.ac.th/Major/LIB1/1500101/2/Unit1/b3.html

ความสำคัญของสารสนเทศ
ในโลกยุคข่าวสาร (Information society) เช่นปัจจุบันมีคำพูดที่กล่าวถึงความสำคัญของสารสนเทศว่า Information is Power หรือ สารสนเทศคืออำนาจ หรือสารสนเทศคือพลัง หมายถึง ผู้ใดที่มีสารสนเทศหรือ ได้รับสารสนเทศที่มีคุณค่าและทันสมัย ผู้นั้นย่อมมีพลังหรือมีอำนาจ ได้เปรียบผู้อื่นในทุก ๆ ด้านเพราะสารสนเทศเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งอันเกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ เพื่อประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ จึงมีความสำคัญต่อบุคคลและสังคม คือ
1. สารสนเทศที่ดี ถูกต้อง เหมาะสมจะช่วยพัฒนาบุคคลในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.1 พัฒนาสติปัญญา ช่วยให้เป็นผู้ที่ได้รับรู้ มีสติปัญญา เจริญก้าวหน้าทางการศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้ แนวคิดต่าง ๆ มาพัฒนาสติปัญญาของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
1.2 พัฒนาบุคลิกภาพ สารสนเทศต่าง ๆ ที่ได้รับรู้นั้น สามารถนำไปพัฒนาบุคลิกภาพส่วนบุคคลได้ ทำให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
1.3 เกิดความเจริญงอกงามด้านจิตใจ สารสนเทศที่ดี ถูกต้อง มีคุณค่าต่อจิตใจทำให้มี จิตใจเป็นธรรม ไม่อคติ สามรถควบคุมอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ มีจิตใจดี รักศิลปะ และวรรณกรรม
1.4 เพิ่มประสิทธิภาพการประกอบอาชีพ บุคคลที่มีสารสนเทศที่ดี ถูกต้องทันสมัยย่อมได้เปรียบผู้อื่น สามารถนำสารสนเทศที่ได้รับใหม่ ๆ นั้นมาเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
1.5 การตัดสินใจที่เกิดประโยชน์สูงสุด หากมีสารสนเทศที่ดี ถูกต้อง สมบูรณ์ จะทำให้บุคคลสามารถตัดสินใจในการบริโภค การประกอบการ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้สารสนเทศตัดสินใจเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนให้ดีขึ้น
2. ความสำคัญของสารสนเทศต่อสังคม สารสนเทศที่มีคุณภาพจะช่วยพัฒนาสังคมโดยส่วนรวมได้หลายด้าน คือ
2.1 ด้านการศึกษา การเลือกใช้สารสนเทศที่ดี ทันสมัย มีคุณค่าจะช่วยให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2.2 การศึกษาค้นคว้า วิจัย ที่มีประสิทธิภาพ การเลือกใช้สารสนเทศที่มีคุณค่าจะทำให้ผลการศึกษาค้นคว้าวิจัย น่าเชื่อถือและสามรถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้มาก
2.3 พัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะสารสนเทศที่ถ่ายทอดความรู้ เทคนิคใหม่ ๆ สืบต่อกันมานั้น สามารถนำไปพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีให้ ก้าวหน้ายิ่งขึ้นซึ่งมีผลต่อการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
2.4 การถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความรักในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติตน
2.5 สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษยชาติ การได้รับสารสนเทศที่มีคุณค่า ช่วยให้ผู้รับมีโลกทัศน์กว้างขวาง แม้จะต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ก็มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ช่วยลดความขัดแย้ง ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
2.6 พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สารสนเทศที่มีคุณค่าช่วยลดปัญหาการลองผิดลองถูกทำให้ลดต้นทุนและช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ ทำให้เศรษฐกิจของบุคคลและประเทศชาติดีขึ้น
2.7 พัฒนาการเมือง สารสนเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองที่มีคุณค่า มีคุณธรรมปราศจากอคติ ย่อมก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันดีทางด้านการเมือง ซึ่งจะเป็นผลดีในการพัฒนาระบบ การเมืองของประเทศชาติให้ดีขึ้น
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สารสนเทศนั้นมีความสำคัญต่อบุคคลและสังคม ช่วยพัฒนาบุคคลให้มีความก้าวหน้าทางสติปัญญา ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ พัฒนาอาชีพ สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ มีโลกทัศน์กว้างขวางซึ่งมีผลต่อการพัฒนาสังคม การพัฒนาประเทศ ทั้งด้านสังคม ด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เกิดจากมนุษย์เพื่อมนุษยชาติ โดยแท้จริง